สำนักปลัดเทศบาล

การให้บริการประชาชนด้านงานทะเบียน


สำนักปลัดเทศบาล
การให้บริการประชาชนด้านงานทะเบียน

 

การให้บริการประชาชนด้านงานทะเบียน

 

งานทะเบียนราษฎร

 

การแจ้งเกิด
1. การแจ้งการเกิดโดยปกติ

 หลักเกณฑ์

           การแจ้งการเกิด ควรแจ้งชื่อเด็กที่เกิดตามหลักเกณฑ์ชื่อบุคคลให้พร้อมกับการแจ้งการเกิด  ภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด

หลักฐาน

          1. เจ้าบ้านหรือบิดามารดา เป็นผู้แจ้ง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีเจ้าบ้านแจ้ง ให้นำบัตรบิดาหรือมารดามาด้วย)

          2. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)

          3. แจ้งเกิดภายใน 15 วัน

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียน

          2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานกับทะเบียนบ้าน และลงรายการในสูติบัตรทั้ง 3 ตอน แล้วเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน  เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว  จึงมอบสูติบัตรบัตร ตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนให้แก่ผู้แจ้ง (ใช้เวลา  15 นาที) กรณีที่บิดาหรือมารดาของเด็กเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ภายในเขตสำนักทะเบียนที่รับแจ้งการเกิด

          3. กรณีที่บิดาหรือมารดาไม่มีชื่ออยู่ในเขตสำนักทะเบียนที่รับแจ้งการเกิด ให้นายทะเบียนออกใบแจ้งย้ายตอนที่ 1,2 มอบให้กับผู้แจ้ง นำไปแจ้งย้ายเข้าต่อไป

 

2. การแจ้งเกิดเกินกำหนด

หลักเกณฑ์

          เป็นการแจ้งการเกิด เมื่อเวลาผ่านพ้นไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ 15 วัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน แล้วเปรียบเทียบคดีความผิด และสอบผู้แจ้งบิดา มารดา ให้ทราบถึงสาเหตุ ที่ไม่ได้แจ้งเกิดภายในเวลาที่กำหนด

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)

          2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา (ถ้ามี)

          3. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียน

          2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานแล้วเปรียบเทียบปรับคดีความผิด และสอบสวนผู้แจ้ง บิดา มารดา ให้ทราบสาเหตุที่ไม่แจ้งการเกิดภายในกำหนดเวลาในกรณีที่บิดาหรือมารดาไม่อาจมาให้ถ้อยคำในการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดนายทะเบียนจะบันทึกถึงสาเหตุดังกล่าวไว้   

 

3. การแจ้งตาย

หลักเกณฑ์ 

          ให้เจ้าบ้านหรือผู้พบศพแจ้งการตายต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ตายภายใน 24  ชั่วโมง

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ที่คนตายมีชื่อและรายการบุคคล (ถ้ามี)

          2. หนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)

          3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง

          4.บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียน เพื่อตรวจสอบและลงรายการในมรณะบัตร

          2. จำหน่ายชื่อผู้ตายออกจากทะเบียนบ้าน โดยจะประทับตราว่า “ตาย” ด้วยสีแดง ไว้หน้ารายการคนตาย

          3. มอบมรณะบัตรตอนที่ 1 ทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนคืนผู้แจ้ง(ใช้เวลา15 นาที)

 

4. การย้ายเข้า

หลักเกณฑ์  

          เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)

          2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

          3. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน (ถ้ามี)

          4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน

          5. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.6) ตอนที่ 1 และตอนที่ 2

          6. เจ้าบ้านลงนามในช่องเจ้าบ้านผู้ยินยอมให้ย้ายเข้าและช่องผู้แจ้ง

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่จะย้ายเข้า

          2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการใบแจ้งการย้ายที่อยู่และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยตรวจสอบ รายการได้ถูกต้องตรงกัน และมอบสำเนาทะเบียนบ้านและหลักฐานคืนให้ผู้แจ้ง (ใช้เวลา  15  นาที)

 

5. การแจ้งย้ายออก

หลักเกณฑ์  

          เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายออกจากบ้าน ให้เจ้าบ้านที่อยุ่แจ้งการย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ย้ายออก

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้าน(ฉบับเจ้าบ้าน)

          2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

          3. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน (ถ้ามี)

          4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน(กรณีมอบอำนาจ)

          5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่ กรณีแจ้งการย้ายที่อยู่ของตนเอง ทั้งนี้ ผู้ย้ายที่อยู่สามารถร้องขอทำหน้าที่เจ้าบ้านเพื่อแจ้งการย้ายที่อยู่ของตนเองได้

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ยื่นเรื่องต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ถึงแม้ว่าเจ้าบ้านไม่สามารถไปแจ้งย้ายออกให้ได้ ผู้ที่ย้ายที่อยู่สามารถขอทำหน้าที่เจ้าบ้านเพื่อย้ายชื่อตนเองออกได้)

          2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการบุคคลที่จะย้ายออก ลงรายการในใบแจ้งย้ายที่อยู่  และจำหน่ายรายการบุคคลที่ย้ายออกในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)  โดยประทับตราคำว่า “ย้าย” ด้วยสีน้ำเงิน ไว้หน้ารายการฯ และระบุว่าย้ายไปที่ใด

          3. นายทะเบียนมอบหลักฐานการแจ้ง คืนผู้แจ้งพร้อมทั้งใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 เพื่อนำไปแจ้งย้ายเข้าต่อไป (ใช้เวลา 10  นาที)

 

6. การแจ้งย้ายปลายทาง

หลักเกณฑ์   

          การแจ้งย้ายปลายทาง หมายถึง ผู้ย้ายที่อยู่สามารถไปแจ้งย้ายออกและย้ายเข้า ณ สำนักทะเบียนแห่งที่อยู่ โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม ทั้งนี้ ผู้ย้ายที่อยู่ควรเป็นผู้แจ้งย้ายด้วยตนเอง

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้าน(ฉบับเจ้าบ้าน) ของบ้านที่จะย้ายเข้า

          2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายไปอยู่ใหม่ พร้อมคำยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าบ้าน

          3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. เรียกสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมคำยินยอมเป็นหนังสือของของเจ้าบ้าน  บัตรประจำตัวของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าไปอยู่ใหม่จากผู้แจ้ง

          2. ตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้งว่า เป็นคนเดียวกับบุคคลที่ปรากฏชื่อและรายการบุคคลที่ย้ายที่อยู่หรือไม่

          3. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานว่า ผู้แจ้งเป็นคนเดียวกับบุคคลที่ปรากฏชื่อและรายการบุคคลที่ย้ายอยู่แล้ว ให้จำหน่ายรายการของผู้ย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนต้นทางด้วยระบบคอมพิวเตอร์

          4. เพิ่มชื่อผู้ย้ายที่อยู่ลงในทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนปลายทาง ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งเพิ่มชื่อลงในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน และคืนให้ผู้แจ้ง

          5. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 20  บาท

          6. ให้สำนักทะเบียนปลายทางแจ้งสำนักทะเบียนต้นทางทราบโดยทางระบบ คอมพิวเตอร์

***สำนักทะเบียนต้นทาง***

          เมื่อสำนักทะเบียนต้นทางได้รับทราบการจำหน่ายรายการของผู้ย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์แล้ว  ให้แจ้งเจ้าบ้านให้สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านมาดำเนินการจำหน่ายชื่อต่อไป

 

7. การแจ้งขอมีบ้านเลขที่

หลักเกณฑ์   

          การแจ้งขอมีบ้านเลขที่ ให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายใน 15 วัน นับแต่วันปลูกสร้างบ้านเสร็จ

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)

          2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง

          3. โฉนดที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน

          4. หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านกรณีที่เจ้าของบ้านปลูกบ้านในที่ดินของผู้อื่น

          5. ใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร (อ.1)

          6. แบบแปลนบ้านที่ปลูกสร้าง

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียน นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน (ใช้เวลา 5 นาที)

          2. นายทะเบียนออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ใช้เวลา 5 นาที)

          3. นายทะเบียนออกไปตรวจสภาพความเป็นบ้าน 

          4. นายทะเบียนกำหนดบ้านเลขที่ และจัดทำทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านและมอบให้ผู้แจ้งเป็นหลักฐาน (ใช้เวลา 5 นาที)

 

8. การแจ้งรื้อถอนบ้าน

หลักเกณฑ์  

          การแจ้งรื้อถอนบ้าน ให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันรื้อถอนบ้าน

หลักฐาน

          1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ขอรื้อถอน

          2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง (เจ้าของบ้าน)

          3.ภาพถ่ายรื้อถอนบ้าน

ขั้นตอนการติดต่อ

          1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียน นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน (ใช้เวลา 3 นาที)

          2. นายทะเบียนออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ใช้เวลา 5 นาที)

          3. นายทะเบียนเขียนคำร้องจำหน่ายรื้อถอนบ้าน และจำหน่ายทะเบียนบ้าน  สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

 

9. การมอบอำนาจของเจ้าบ้าน

หลักเกณฑ์  

          เจ้าบ้าน คือ ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับบ้านหลังที่ตนเป็นเจ้าบ้าน ได้แก่ การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การแจ้งย้ายที่อยู่หรือเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับบ้าน  แต่เจ้าบ้านก็สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้

หลักฐาน

          1. หนังสือมอบอำนาจของเจ้าบ้านระบุรายละเอียดชัดเจนว่ามอบให้ใครทำอะไร และลงชื่อผู้มอบ

          2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

          3. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

          4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถมอบอำนาจ

          หากเจ้าบ้านไม่อยู่ เช่น ไปต่างประเทศ หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เช่น ป่วยหนัก และมีเรื่องที่ต้องดำเนินการในฐานะเจ้าบ้าน เช่น มีการตายเกิดขึ้นให้ถือว่าผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านผู้หนึ่งผู้ใดหรือผู้ดูแลบ้าน หรือผู้อยู่ในบ้านนั้น  ทำหน้าที่เจ้าบ้านแทนได้

 

10. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร

           เอกสารการทะเบียนราษฎร  ได้แก่  สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน  สูติบัตร  มรณะบัตร  และใบแจ้งการย้ายที่อยู่

หลักเกณฑ์  

          การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร สำหรับรายการต่าง ๆ ที่ได้ลงไว้แล้ว  หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่  เนื่องจากกรณีใดก็ตาม  จะทำการลบ  ขูด  หรือทำให้เลือนหายไปไม่ได้  แต่จะต้องใช้วิธีขีดฆ่าคำหรือข้อความเดิม  แล้วเขียนคำหรือข้อความที่ถูกต้องแทน  ด้วยหมึกสีแดง  และให้นายทะเบียนลงชื่อ  และ  วัน  เดือน  ปี  ที่แก้ไข  กำกับไว้

กรณีที่มีหลักฐานประกอบ

          ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องขอฯ  มีเอกสารราชการมาแสดงประกอบเป็นหลักฐานไม่ว่าเอกสารนั้นจะจัดทำก่อนหรือหลังการจัดทำทะเบียนราษฎร นายทะเบียนจะพิจารณาความเชื่อถือได้  และแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้ตรงกับหลักฐาน

กรณีที่ไม่มีหลักฐานประกอบ

          ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอฯ  ไม่มีเอกสารราชการมาแสดงนายทะเบียนจะสอบสวนพยาน  หลักฐาน  และรวบรวม  เสนอนายอำเภอ  พร้อมด้วยความเห็นเพื่อพิจารณาและสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร

 

11. การขอตรวจ คัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร

หลักเกณฑ์  

          1. ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจ หรือให้นายทะเบียนคัดและรับรองสำเนารายการเอกสารทะเบียนราษฎรได้ที่สำนักทะเบียนแห่งท้องที่ที่เก็บรายการทะเบียนราษฎรไว้หรือที่สำนักทะเบียนกลางในวันเวลาราชการ

          2. ผู้มีส่วนได้เสียตามระเบียบนี้หมายถึง

               (1) เจ้าบ้าน

               (2) ผู้มีชื่อและรายการปรากฏในเอกสารที่จะขอตรวจ หรือคัดและรับรองสำเนา

               (3) บุคคลหรือนิติบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับเอกสารทะเบียนราษฎร ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

          3. บุคคลหรือนิติบุคคลตาม ข้อ 2 (3) ให้นายทะเบียนเรียกตรวจสอบหลักฐานจากผู้ร้องและพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้วจึงดำเนินการให้ต่อไป  หากผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางอ้อม  ให้สอบสวนบันทึกปากคำเพื่อยืนยันความเป็นผู้มีส่วนได้เสียไว้เป็นหลักฐานด้วย เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบทางอาญาถ้าเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสีย

          4. การดำเนินการตามข้อ 1 ให้ดำเนินการได้เฉพาะรายการที่ปรากฏในเอกสารจากต้นฉบับ หรือหลักฐานของสำนักทะเบียนเท่านั้น เว้นแต่ที่สำนักทะเบียนกลาง  ให้เป็นไปตามหลักฐานที่ได้จัดเก็บไว้ด้วยระบบไมโครฟิล์ม หรือจากหลักฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรที่จัดสร้างไว้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

หลักฐาน

          1. บัตรประจำตัวผู้ยื่นคำร้อง

          2. หลักฐานการเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง โดยอ้อม

          3. หนังสือมอบหมาย (ถ้ามี)

ขั้นตอนการติดต่อ 

          1. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ผู้แจ้งนำมาแสดง (บัตรผู้แจ้ง) และเอกสารหลักฐานที่ผู้แจ้งนำมา (ใช้เวลา 3 นาที)

          2. นายทะเบียนพิมพ์คำร้อง

          3. นายทะเบียนคัดและรับรองรายการเอกสาร

          4. นายทะเบียนออกใบเสร็จและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 10 บาท

 

สถิติการให้บริการงานทะเบียนราษฏร

 

 - สถิติการให้บริการงานทะบียนราษฎร